วันที่จัดกิจกรรม 5 ต.ค. 2560 ถึง 5 ต.ค. 2560
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ห่วงเด็กไทยอ้วน เป็นเบาหวาน การทำงานหัวใจและปอดแย่ลง แนะผู้ปกครอง โรงเรียนเร่งเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามหลัก เลี่ยงการกินขนมขบเคี้ยวและอาหารที่มีรสหวาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเด็กไทยสุขภาพแข็งแรง นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ภาวะเริ่มอ้วนในเด็กวัยเรียน ร้อยละ 12.2 (ข้อมูลจาก HDC สนย, 2559) สาเหตุเกิดจากการกินอาหารมากเกินความจำเป็น ทำให้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ติดเชื้อไข้หวัดและมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ง่าย และยังเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากอัตราการป่วยด้วยโรคเรื้อรังจะเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของประเทศเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการลดปัญหาโรคอ้วนในวัยเด็ก โดยเร่งดำเนินการให้ทุกโรงเรียนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ด้านการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการจัดการอารมณ์ ของนักเรียนเพื่อมุ่งหวังลดพฤติกรรมเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในอนาคต ดังนั้นเพื่อให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพที่ยั่งยืน ต้องเพิ่มพูนความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) เรื่องโรคอ้วน หากประชากรวัยเด็กมีความรอบรู้ด้านสุขภาพเรื่องโรคอ้วนในระดับต่ำแล้ว มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมสุขภาพในระดับต่ำ และมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอ้วนและโรคเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่ นายชาญยุทธ พรหมประพัฒน์ ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวต่อว่า กองสุขศึกษาได้สำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันโรคอ้วนของนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลายกับมัธยมศึกษาตอนต้น เมื่อปี 2557 จากกลุ่มตัวอย่าง 2,004 คน กระจายทั่วประเทศ พบว่า นักเรียนกลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง มีระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคอ้วน คิดเป็นร้อยละ 60.4 เนื่องด้วยเด็กยังขาดข้อมูลความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคอ้วน จึงไม่สามารถตัดสินใจเลือกปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขแนวโน้มเด็กไทยจะมีโอกาสเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเผชิญโรคอ้วนตั้งแต่เด็กนั้นจะเกิดผลร้ายต่อเด็กในระยะยาวและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ เด็กอ้วนเสี่ยงต่อการหยุดหายใจเมื่อหลับสนิท มีปัญหาออกซิเจนในเลือดต่ำลงในขณะนอนหลับส่งผลต่อการเจริญเติบโต มีอาการปวดศีรษะ ปัสสาวะรดที่นอน ซน สมาธิสั้น ระดับสติปัญญาต่ำ และอาจเป็นมากจนมีการทำงานของหัวใจและปอดแย่ลง ทำให้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจขณะหลับ รวมทั้งมีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน ทั้งนี้ แนะให้ผู้ปกครอง และโรงเรียนร่วมมือกันปรับพฤติกรรมเด็กตามแนวทางของโรงเรียนสุขบัญญัติแห่งชาติ ดังนี้ 1) จัดเตรียมอาหารที่เหมาะสมตามหลักโภชนาการให้กับเด็ก เพิ่มผักผลไม้ หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กรับประทานขนมขบเคี้ยว อาหารที่มีรสหวานจัด เค็มจัด และเครื่องดื่มที่มีรสหวานทุกชนิดทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน 2) ส่งเสริมกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายตามความชอบและความถนัดของเด็กอย่างเหมาะสม ลดพฤติกรรมการนั่งดูทีวี เล่นเกมคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ควรมีการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาควรออกทุกวันๆ ละอย่างน้อย 1 ชั่วโมง การออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้สามารถควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี และ 3) ครูด้านสุขศึกษาช่วยดูแลและป้องกันภาวะอ้วนในเด็ก ด้วยการส่งเสริมให้เด็กมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ให้คำปรึกษาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของเด็กและพฤติกรรมการออกกำลังกายที่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริงให้กับบิดาและมารดาหรือผู้เลี้ยงดูเด็กต่อไป